วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน LG Chem บริษัทเคมีภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้เผยว่าได้ร่วมมือกับ Youshan บริษัทในเครือ Huayou Group ของจีน เพื่อร่วมลงทุนสร้างโรงงานผลิตวัสดุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในโมร็อกโก ซึ่งจะเริ่มการผลิตในปี 2026 และมีเป้าหมายผลิตวัสดุแคโทดลิเทียมเฟสเฟตไออน (LFP) จำนวน 50,000 เมตริกตันต่อปี ที่เพียงพอใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าระดับเริ่มต้นจำนวน 500,000 คัน
ปกติแล้ว LG Chem เป็นผู้ผลิตวัสดุแคโทดนิกเกิล-โคบอลต์-แมงกานีส ที่มีราคาสูงกว่า LFP แต่เนื่องจากปัจจุบันตลาดมีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่แพง ส่งผลให้ผู้ผลิตมีความต้องการแบตเตอรี่ LFP ที่มีราคาถูกกว่า ดังนั้น LG Chem จึงตัดสินใจเข้าสู่การผลิตวัสดุแคโทด LFP เป็นครั้งแรก
ที่สำคัญคือโมร็อกโกได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ จึงมีผลให้วัสดุแคโทด LFP ที่ผลิตในโรงงานโมร็อกโกของ LG Chem สามารถส่งไปผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในอเมริกาเหนือ เพื่อได้รับเงินอุดหนุนจากกฎหมายลดเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่แบตเตอรี่ผลิตจากวัสดุในประเทศการค้าเสรีกับสหรัฐฯ เช่น โมร็อกโก และเกาหลีใต้ ก็จะได้รับเครดิตภาษี 3,750 เหรียญ
กฎหมายลดเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีเบื้องหลังอย่างหนึ่งก็คือ ต้องการให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของจีน ดังนั้นการที่ LG Chem ร่วมลงทุนกับ Youshan ของจีน ทาง LG Chem จะต้องดูสัดส่วนการถือหุ้นให้สอดคล้องกับแนวทางที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำหนด ว่ามีความข้องเกี่ยวกับหน่วยงานต่างประเทศที่น่ากังวลหรือไม่ ? ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีการระบุที่ชัดเจนมาก แต่ส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่บริษัทของจีน
LG Chem ยังได้ประกาศแผนการลงทุนเพิ่มเติมใน Huayou Cobalt เพื่อสร้างโรงงานแปลงสภาพลิเทียมในโมร็อกโก ซึ่งจะเริ่มต้นการผลิตจำนวนมากในปี 2025 ด้วยกำลังการผลิตลิเทียม 52,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ LG Chem เผยว่าจะสร้างโรงงานอีก 2 แห่งในอินโดนีเซีย คือ โรงงานสกัดสารตั้งต้นที่มีกำลังการผลิต 50,000 ตันต่อปี และโรงงานสกัดไฮดรอกไซด์ที่ผสมอยู่ออกจากแร่นิกเกิลเพื่อนำไปผลิตสารตั้งต้น