ระหว่างรอลุ้นการประกาศขึ้นทะเบียน “เมืองโบราณศรีเทพ” ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ของไทย เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 45 ที่ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย วันนี้ (19 ก.ย.) เรามาทำความรู้จักเมืองโบราณที่น่าภาคภูมิใจแห่งนี้กันให้มากขึ้น
มีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนไปได้ถึงสมัยทวารวดี ที่มีอายุเมื่อราว 1,200 ปีที่แล้ว นักโบราณคดีไทยเรียกยุคประวัติศาสตร์ช่วงสมัยนี้ว่า “สมัยทวา” สันนิษฐานว่า ศูนย์กลางความเจริญของยุคนี้น่าจะอยู่บริเวณด้านตะวันตกของลุ่มนํ้าเจ้าพระยา แถวเมืองอู่ทองและนครปฐม จากการที่พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจํานวนมาก และขนาดของเมืองที่มีขนาดใหญ่ โดยเมืองเหล่านี้ทําหน้าที่เป็นเมืองท่าทางทะเลด้วย
ชุมชนโบราณศรีเทพมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดีย และเริ่มเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ของไทยเมื่อประมาณ 1,200 ปีที่ผ่านมา เมื่อเริ่มมีการสร้างเมืองเป็นรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของทวา ซึ่งเอกลักษณ์ดังกล่าวนั้นก็คือ “คูน้ำคันดิน” มีสองเมือง คือ เมืองในและเมืองนอก ภายในเมืองใน ปรากฏโบราณสถานที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดีจำนวนมาก อาทิเป็นพุทธสถานในศาสนาพุทธหินยาน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ต่อมาเปลี่ยนการใช้งานมาเป็นพุทธศาสนามหายาน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14...
นอกจากสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียและชวาแล้ว เรายังพบปราสาทตามแบบศิลปะเขมรที่เมืองโบราณศรีเทพด้วย คือ “ปรางค์ศรีเทพ” สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะเขมรแบบบาปวนและมีการสร้างเพิ่มเติมในสมัยบายน ตัวปราสาทสร้างอยู่บนฐานอาคารสมัยทวารวดี ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐศิลาแลง มีอาคารประกอบทั้งมณฑป บรรณาลัย โคปุระ และสะพานนาค